STC แถลงข่าวเปิดตัวรถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-2 ร่วมแข่งขัน World Solar Challenge 2017
STC แถลงข่าวเปิดตัวรถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-2 ร่วมแข่งขัน World Solar Challenge 2017
การเดินทาง 3,022 กิโลเมตรตั้งแต่เมืองดาร์วิน (Darwin) ทางเหนือสุดของออสเตรเลียสู่เมืองอะดิเลด (Adelaide) ทางใต้สุดของประเทศด้วยรถยนต์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของนักศึกษาและอาจารย์คณะเทคโนโลยีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) ในการเข้าร่วมการแข่งขัน World Solar Challenge 2017 การแข่งขันรถพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี โดยจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี ณ ประเทศออสเตรเลีย นับเป็นการแข่งขันในเส้นทางที่สุดทรหดเส้นทางหนึ่งของโลก และยังใช้ได้เพียงแค่พลังงานแสงอาทิตย์อย่างเดียวห้ามใช้พลังงานจากน้ำมัน
ปีนี้เป็นสมัยที่สองที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) ได้เข้าร่วมการแข่งขัน World Solar Challenge 2017 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-15 ตุลาคม 2560 โดยได้ส่งรถเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 2 รุ่น คือ STC-2 เอดิสัน (STC-2 Edison) จะลงแข่งในส่วนรุ่น Challenger Class รุ่นนี้จะเน้นในเรื่องประสิทธิภาพของรถ ความเร็ว ฯลฯ เกณฑ์การแข่งขันจะวัดกันที่ใครวิ่งถึงเส้นชัยก่อน ส่วนคันที่สองคือ STC-2 นิโคล่า (STC-2 Nikola) จะลงแข่งขันในรุ่น Curiser โดยรุ่นนี้จะเน้นในเรื่องของการออกแบบรถให้สามารถใช้งานได้จริงตามท้องถนน และสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่า 1 คน
“การที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เข้าร่วมแข่งขัน World Solar Challenge เพราะเรามองว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเป็นการเรียนรู้ผ่านการแข่งขันระดับโลก และยังใช้ศักยภาพทุกด้านของผู้เข้าแข่งขันเพื่อก้าวไปยังจุดหมายที่วางเอาไว้ร่วมกันภายใต้เงื่อนไขหรือกติกาต่างๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เด็กไทยของเรามีฝีมือมีทักษะในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจนสามารถเข้าไปร่วมในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างไม่น้อยหน้าชาติใด พวกเราทุกคนมีความภูมิใจที่ได้มีโอกาสโบกธงชาติไทยเหนือเส้นชัยบนแผ่นดินเมืองเอดิเลต ประเทศออสเตรเลีย แม้การเดินทางของเราจะไม่ราบรื่นสมบูรณ์แบบมากนักแต่พวกเราเป็นกลุ่มคนไทยกลุ่มแรกที่ได้เดินตามความฝันจนสำเร็จ” อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) กล่าว
ดร.ฐกฤต ปานขลิบ คณบดีคณะเทคโนโลยี และผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) กล่าวว่า การจุดประกายความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสร้างเป็นผลงานรถพลังงานแสงอาทิตย์เกิดจากท่านอธิการบดีอาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิชซึ่งเป็นผู้มีวิสัยทัศนยาวไกลมองเห็นสิ่งที่คณาจารย์และนักศึกษาจะได้รับจากการเข้าร่วมแข่งขันในรายการดังกล่าว ด้วยกระบวนการเรียนรู้จากภายนอกห้องเรียนผ่านการเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้เปรียบเสมือนการขัดเกลาและเจียระไนเพชรเม็ดใหม่ให้เกิดขึ้นจากนักศึกษาที่ไม่ประสีประสาถูกเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่มีความรับผิดชอบกล้าคิดกล้าทำหรือกลายเป็นวิศวกร นักเทคโนโลยีที่มีคุณภาพในอนาคต
“การได้เข้าร่วมการแข่งขันทำให้นักศึกษาของเราสามารถประยุกต์ใช้ทฤษฎีที่เรียนรู้จากห้องเรียนไปสู่การปฎิบัติจริงได้ และพวกเขาจะไม่มีวันลืมประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในการเข้าร่วมแข่งขันไปตลอดชีวิต ความลำบากจากการเดินทาง ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ที่พบตลอดการสร้างรถ STC-1 และSTC-2 จะช่วยให้พวกเขาเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็งและก้าวเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของประเทศไทย” ดร.ฐกฤต ปานขลิบ กล่าว
สำหรับความท้าทายของการเข้าแข่งขันครั้งนี้คือการนำความคิดและผลงานของนักศึกษาและอาจารย์ชาวไทยไปอวดโฉมอยู่บนเวทีระดับโลก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศกลับมาแต่สิ่งที่นักศึกษาและอาจารย์คณะเทคโนโลยีได้กลับมาคือการได้พัฒนาคุณภาพของตนเองให้เทียบชั้นกับมหาวิทยาลัยระดับโลก และนี่คือการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ท้าทายที่สุดและเป็น Learning by Doing ซึ่งสอดรับกับแนวทางการเรียนการสอนที่ท่านอธิการบดีอาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิชให้ความสำคัญ นั้นคือการเน้นการเรียนการสอนในภาคปฎิบัติมากกว่าทฤษฎีเพื่อให้ผู้เรียนได้ปฎิบัติจริงๆ เมื่อเป็นบัณฑิตก็จะเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ
ร่วมส่งกำลังใจเชียร์เด็กไทยสู่การแข่งขันระดับโลก
We move with the sun.
วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม