พิธีเปิดโครงการความร่วมมือการออกแบบและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ STC-4
ระหว่างวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันในรายการ World Solar Challenge 2023 ที่ประเทศออสเตรเลีย
วันที่ 7 ต.ค. 2565 เวลา 10.00-11.00 น. อาคารเฉลิมพระเกียรติ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
Solar Car Thailand รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นวัตกรรมเพื่อสังคมยุคใหม่ของประเทศไทยโดยวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม หรือ STC
ได้ส่งรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เข้าการแข่งขัน World Solar Challenge ที่ประเทศออสเตรเลีย มาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 4 ที่จะถึงนี้
วิทยาลัยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในการร่วมกันออกแบบโครงสร้างภายนอกให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัย มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย เพิ่มประสิทธิภาพการขับขี่ ถูกต้องตามหลักกลศาสตร์ และที่สำคัญสามารถเป็นต้นแบบในการผลิตเพื่อใช้บนท้องถนนได้จริง
ในระหว่างพิธีได้มีการบอกเล่ากิจกรรมการออกแบบร่วมกัน และพูดคุยสนทนาถึงความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่แตกต่างกันของผู้เข้าร่วม โดยเริ่มจากท่านอธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ผศ. พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ได้กล่าวถึงความสำคัญของการสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการนำไปเข้าแข่งขันที่ต่างประเทศ ว่าเป็นการผลิตนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาได้เห็นถึงความสำคัญถึงการเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่กระบวนการออกแบบ กระบวนการผลิต และระหว่างการแข่งขันในสนามจริงไปพร้อมๆ กัน
ทั้งนี้คุณพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยังได้กล่าวสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวว่าความร่วมมือระหว่างสององค์กร จะนำมาซึ่งการจุดประกายด้านนวัตกรรมยานยนต์ที่สำคัญของประเทศไทย และไปไกลถึงระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ คุณภูเบศ วิทยาสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารโครงการพิเศษ สำนักพัฒนาธุรกิจและนวันตกรรม และคุณกิตติเศรษฐ์ เก่งการค้า ผู้จัดการศูนย์นวัตกรรมด้านการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าปฐมนิเทศน์เพื่อส่งต่อมุมมองและไอเดียที่มีต่อโครงการนี้ให้ผู้เข้าร่วมทุกท่านได้รับฟัง
ปิดท้ายด้วยการสัมภาษณ์ประสบการณ์เข้าแข่งขัน World Solar Challenge ที่ประเทศออสเตรเลีย ทั้ง 3 ครั้ง จากทีมอาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ประกอบด้วย ผศ.ดร.ฐกฤต ปานขลิบ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี อาจารย์จิรวัตน์ กรุณา อาจารย์ประสงค์ศักดิ์ สองศรี อาจารย์รัฐพล โพธิ์ศรี และนายนครินทร์ พลพิทักษ์ โดยการสนทนาครั้งนี้ได้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อันเป็นประโยชน์ ซึ่งจะเป็นผลให้ รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ STC-4 มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และอาจทำให้สามารถคว้าชัยในการแข่งขันที่จะมาถึงนี้ได้!